#ASPA2022 #สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ #มหาวิทยาลัยรังสิต
(30 มี.ค. 2565) ดร.วีระยุทธ โชคชัยมาดล (Dr. Veerayuth Chokchaimadoln) รองคณบดีฝ่ายบริหาร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับเชิญจากสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Society for Public Administration (ASPA) ให้เป็นผู้นำเสนอบทวิเคราะห์ด้านการบริหารภาครัฐ ในงานประชุมประจำปีของ ASPA ภายใต้กรอบหัวข้อ Democracy Under Threat: The Future of Equality in a Post-COVID World ในหัวข้อย่อย One-Stop Service and Best Practices in Asia เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นโซนตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา (30 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 8.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)
ในการนี้ ดร.วีระยุทธ นำเสนอบทวิเคราะห์ Thailand’s Government-Launched Mor Prom Application as a One-Stop Digital Transformation in Delivering Public Health Service amid the COVID-19 Pandemic ในเวทีอภิปรายทางออนไลน์ร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี นับเป็นความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายระดับสถาบันสู่สากลเป็นครั้งแรกของสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ในสาขาดังกล่าว
ทั้งนี้ ASPA เป็นสมาคมด้านการบริหารภาครัฐชั้นนำของโลก นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2482 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 83 มีสมาชิกประกอบด้วยนักวิชาการ นักคิด นักวิจัย นักปฏิบัติ นักบริหารภาคประชาสังคม และผู้แทนองค์กรต่างๆ รวมกว่า 8,000 คนจากทั่วโลก ซึ่ง ดร.วีระยุทธ เป็นผู้บริหารคนแรกที่นำชื่อของสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยรังสิต ไปปรากฏในงานของ ASPA หลังจากก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้นำเสนอบทวิเคราะห์ด้านนโยบายสาธารณะในเวทีอภิปรายทางออนไลน์ของสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์แห่งเอเชีย หรือ Asian Association for Public Administration (AAPA) มาแล้วในงานประชุมประจำปี 2020 ที่ผ่านมา ที่ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้จัด
ในอนาคต เชื่อมั่นว่าสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยรังสิต (Institute of Public Administration and Public Policy, Rangsit University) จะมีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชาติและสากลโดดเด่นขึ้นเป็นลำดับ ด้วยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยรังสิตและการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร คณาจารย์ ตลอดจนศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป